วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เลขานุการกับการใช้อีเมล

ทำไมต้องเขียนเรื่องอีเมลอีก เคยเขียนเรื่องอีเมล มาสัก 2-3 ครั้งแล้วเพราะเริ่มได้รับอีเมลจากกลุ่มที่ search บทความของเราเจอใน google เป็นส่วนใหญ่ คงไม่ได้โฆษณาให้เขาเพราะมันเช็คได้ใน counter ที่กำหนดไว้นั้นเอง และยังมีอีเมลต่างๆ ที่ได้รับจากผู้ที่สนใจเข้ามาทักทายและได้เคยพบปะกันมาแล้ว เมื่อมีบทความที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้นั้นก็คิดว่า เขาน่าจะได้อ่าน ถึงไม่เป็นประโยชน์ในวันนี้ แต่วันหน้าก็คงจะได้ใช้บ้าง

สิ่งที่พบในการรับอีเมล ทั้งผู้ที่รู้จักกันเป็นขาประจำหรือพวกขาจร (search เจอ) ก็เข้ามาทักทาย ติบ้างชมบ้างก็ว่ากันไป เพราะข้อมูลที่นำขึ้นไปเผยแพร่ ต้องยอมรับว่า มันถึงจุดที่จะบอกว่า ถ้าไม่กล้านำเสนอแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า มีใครอ่านเรื่องของเราบ้าง ดังนั้น การวิพากษ์ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องยอมรับได้ จะได้นำมาพัฒนางานเขียน (ไม่รู้จะได้เรื่องหรือเปล่า) ของตนเอง ซึ่งก็ยอมรับว่า บางครั้งมันก็แรงจนเกือบจะรับไม่ได้ แต่ก็ต้องเขียน เพราะเรามั่นใจว่า งานเขียนเรื่องเหล่านี้หาได้ค่อนข้างยาก เพราะตำแหน่งเลขานุการที่นับวันก็เริ่มจะร่อยหรอไปทุกที

ที่พูดเสียยึดยาวก็ จะมาจบที่เรื่อง อีเมล ว่า มีจำนวนคนใช้เพิ่มมากขึ้น (นับเฉพาะคนใกล้ๆ ตัวเรา) ที่เห็นได้ชัดว่า มีทั้งนักเรียน นักศึกษา อาชีพที่เกี่ยวข้องติดต่อกันมา และที่เห็นก็คือ การสนุกสนานกับการใช้พื้นที่ติดต่อกันไม่ว่าจะเป็น msn, space, hi5 หรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ต้องมีอีเมลถึงจะแสดงความคิดเห็นหรือเข้าไปใช้ได้ ไอ้ที่จะพูดถึง เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอีกนั้นแหละ ว่า ตกลงคนที่ใช้อีเมล มีจำนวนมากที่ส่งเป็นแต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่พบเห็นบ่อยๆ เอ้ามาดูแต่ละข้อดังนี้


p2 การเขียนจดหมายโดยไม่ compose หรือ สร้าง อีเมลใหม่ แต่ใช้อีเมล ฉบับเดิมที่เคยติดต่อกันไปมา หากเป็นเมื่อปีก่อนหน้านั้น ก็ยังไปค้นหามาได้ ถ้าจะเดาเรื่องนี้ ก็น่าจะเดาได้ว่า ยังไม่รู้วิธีการเก็บชื่อที่อยู่ที่ติดต่อ ในอีเมลแต่ละชนิด




p2 ให้ที่อยู่อีเมลที่ไม่ได้ใช้งาน เพราะอีเมลจะตอบกลับด้วยสำนวน Delivery to the following recipient failed permanently: เลยไม่รู้ว่า ตกลงคงจะมีอีเมลหลายชื่อ จนสับสนว่า บางชื่อมันหมดอายุการใช้งานไปแล้ว


p2 ส่งอีเมลไปแล้ว ไม่เคยตอบ ทั้งๆ ที่เปิดอ่าน อ้าวแล้วรู้ได้อย่างไร มีโปรแกรมแจกฟรีที่เคยใช้และอยากทดลองเพื่อให้รู้ว่าบุคคลปลายทางที่เราส่งอีเมลไปให้นั้นเปิดอ่านวันเวลาใด เคยทดลองใช้ก็รู้ว่ามีการเปิดอ่านจริงแต่ไม่ยักกะตอบ ตอนหลังก็เลยไม่นำโปรแกรมนั้นมาใช้อีก เพราะก็ไม่รู้จะติดไว้ทำไมพอรู้ว่า เขาเปิดอ่านแล้วไม่ตอบก็เกิดความรู้สึกอีก



p2 โทรศัพท์แจ้งว่า ได้ส่งอีเมลมาให้ ฟังแล้วจะงง! ก็จะบอกงัยว่า ได้ส่งอีเมลให้แล้วไปเปิดอ่านเสีย double standard รายนี้สงสัย เป็นอะไรกับบริษัทมือถือแน่ๆ กลัวเขาจนหรืองัย แต่ถ้ามีการแนบข้อมูลมาให้อันนี้ไม่ว่า เจ๊ากันไป


p2 ใช้หัวข้อเรื่องในการเขียนจดหมาย อันนี้ก็น่าจะงง!! คือ เรื่องมีอยู่ว่า อยากได้ข้อมูล.... แล้วคลิกส่งเลย ที่จริงฟรีอีเมลบางชนิด จะไม่สามารถส่งได้เพราะเมื่อคลิกส่ง จะมีข้อความสอบถามก่อน แต่บางอีเมลก็ส่งมาได้เลย ครั้งแรกที่รับก็คิดว่า คงจะคลิกผิดหรือเปล่า น่าจะมีข้อความอะไรอยู่บ้าง ก็รอฉบับต่อไป ก็ไม่ปรากฏเงาของเจ้าของอีเมลลึกลับนี้อีกเลย



p2 ขอข้อมูล มีอีเมลหลายฉบับขอข้อมูลที่เขียน ด้วยความที่มีความหวังดี เพราะในอีเมลระบุว่า จะรอความหวัง (ซะงั้น) จากเรา รีบค้นหาทันทีตอบพร้อมแนบไฟล์อธิบาย จำได้ไม่น่าจะเกิน 1 วัน เลยพบว่า เจ้าของอีเมลฉบับนั้นคงจะได้รับข้อมูลจากคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว ผิดที่เราเองช้า... จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับตอบ “ขอบคุณ” เลย เอ้อ! มันพิมพ์ยากคำๆ นี้ เพราะแป้นอักษรมันอยู่ด้านขวาเกือบหมดเนี่ยนะ

p2 ไม่ลบข้อมูลในอีเมล จนอีเมลที่ส่งไปไม่สามารถส่งได้บอกว่า ข้อมูลเต็ม แต่วันนี้ฟรีอีเมลทั้งหลายก็ให้ขนาดของพื้นที่บรรจุมากมายมหาศาล เดาเอาว่า ไม่เคยลบอีเมลขยะทั้งหลาย พวกโฆษณาขายสินค้านานัปการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะทางเพศ หรืออาจจะเป็นเพราะว่า ยังไม่ได้ใช้ระบบการกรองข้อมูล

p2 ส่งอีเมลลูกโซ่ (ผู้เขียน) ด้วยความปรารถนาดี ประสงค์ร้าย ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ มีคำอวยพรมาให้ด้วยว่า ถ้าไม่ส่งคุณจะประสบ... ช่างสรรหามาบรรยาย เป็นนักเขียนที่หาเรื่อง มาเขียนได้ วันหลังจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละนิ้ว (จิ้มดีด) กำจัดอีเมลแบบนี้ ให้ลดน้อยลง

จากเรื่องอีเมลที่เขียนนี้ ก็น่าจะเป็นอีก ข้อสังเกตหนึ่งการใช้อีเมล ว่า ข้อปฏิบัติข้อใด ที่สมควรจะใช้หรือข้อใดที่จะต้องเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: